วิธีสอนลูกให้รักการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก

7 วิธีสอนลูกให้รักการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก

1. ช่วยลูกค้นหาความสนใจและหลงใหล วิธีหนึ่งในการจุดประกายความรักในการเรียนรู้คือ การช่วยให้ลูกค้นหาตัวตน และความสนใจของเขา เด็กจะเรียนรู้ได้ดี เมื่อได้ทำในสิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพและช่วยพัฒนาเด็ก สังเกตและพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังทำ อ่าน ดู และเรียนรู้ พาเขาไปสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ ชมการแสดงละคร สวนสัตว์ ฯลฯ หรือลองทำแบบทดสอบความสนใจ กิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยพ่อแม่ค้นหาและจุดประกายความสนใจของลูกได้ 2. ปล่อยให้ลูกลงมือทำ เมื่อรู้แล้วว่าลูกสนใจอะไร ก็ช่วยหาข้อมูลเพิ่มเติมและทำให้การเรียนรู้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น โดยการพาเขาไปลองเรียนรู้สัมผัสด้วยประสบการณ์ของตัวเอง การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริงนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับเด็ก เมื่อเด็กได้เคลื่อนไหว สัมผัส และได้รับประสบการณ์ เขาจะเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เช่น หากลูกของคุณกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำ ให้พาเขาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ถ้าเขากำลังสนใจศิลปินสักคน ให้พาเขาไปที่พิพิธภัณฑ์เพื่อดูผลงานของศิลปินคนนั้น 3. ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก เรื่องที่ดูเหมือนน่าเบื่อก็สามารถกลายเป็นเรื่องสนุกมากขึ้นได้เมื่อปรับรูปแบบการเรียนรู้ เช่น สอนผ่านเพลง เกมวิชาการ เกมล่าสมบัติ กิจกรรมสร้างสรรค์ BINGO เชิงวิชาการ หรือปริศนาอักษรไขว้ รวมไปถึงการทำโครงการศิลปะ ดนตรี หรืองานเขียนเชิงสร้างสรรค์เข้ากับหัวข้อวิชาการใดก็ได้ เช่น สร้างเพลงเกี่ยวกับวัฏจักรของน้ำ หรือเขียนเรื่องราวจากมุมมองของลูกอ๊อดในขณะที่กำลังแปลงร่างเป็นกบ หรืออาจสร้างแบบจำลองของระบบสุริยะโดยใช้วัสดุที่หาได้ในบ้านหรือในห้องเรียน หรือบางครั้งแค่ใช้อารมณ์ขัน เล่าเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาที่สอนก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่สนุกสนานขึ้น เมื่อลูกเริ่มเห็นว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกมากขึ้นและเครียดน้อยลง ความรู้สึกรักในการเรียนรู้ก็ค่อยๆ จะเติบโตขึ้น 4. เป็นพ่อแม่ที่รักในการเรียนรู้ พ่อแม่ควรสำรวจตัวเองเช่นกัน ว่าสนใจ หลงใหลในเรื่องอะไร และแสดงออกให้ลูกเห็น เช่น การทำอาหาร การถ่ายภาพ วรรณกรรม ฯลฯ พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่พ่อแม่กำลังเรียนรู้ ความท้าทาย ความตื่นเต้น วิธีที่พ่อแม่นำสิ่งที่คุณเรียนรู้ไปใช้ในชีวิต การแสดงความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ของพ่อแม่จะช่วยปลูกฝังความหลงใหลแบบเดียวกันนี้ให้กับลูก 5. ค้นหาสไตล์การเรียนรู้ที่เหมาะกับลูก เด็กมีสไตล์การเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง หรือรูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของแต่ละคน นักจิตวิทยาได้ระบุรูปแบบการเรียนรู้หลัก 3 รูปแบบ ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านการมองเห็น การได้ยิน และการเคลื่อนไหวร่างกาย - เด็กที่ชอบเรียนรู้ผ่านการมองเห็น จะประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นรูปภาพ เด็กกลุ่มนี้มีลักษณะช่างสังเกต มีความจำที่ยอดเยี่ยม และมักจะชอบงานศิลปะ - เด็กที่ชอบเรียนรู้ผ่านการได้ยิน ชอบที่จะรับข้อมูลผ่านการฟัง เด็กกลุ่มนี้เป็นผู้ฟังที่ดี ปฏิบัติตามคำสั่งได้ดี และมักมีจุดแข็งด้านการพูด และ/หรือความถนัดด้านดนตรี - เด็กที่ชอบเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย มักเก่งด้านกีฬาหรือเต้นรำ เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการเคลื่อนไหวและการสัมผัส ชอบนับนิ้วหรือใช้ภาษาท่าทางบ่อยๆ หาจุดเด่นของลูกว่าเด่นในการเรียนรู้แบบไหน และส่งเสริมในทางที่เหมาะกับเขา จะช่วยให้เขาเรียนรู้ในแบบที่เขารู้สึกสบายใจและสนุกสนานที่สุด 6. พูดคุยและรับฟัง การให้ความสนใจกับคำถามที่ลูกถามอาจช่วยให้ค้นพบความสนใจของเขาได้ เมื่อลูกแสดงสนใจด้วยการถามคำถาม พยายามตอบคำถามนั้นให้ดีที่สุด แม้ว่าคำถามจะนอกประเด็นไปบ้าง แต่พ่อแม่ก็ควรแสดงความสนใจและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับลูก หากพ่อแม่ไม่ทราบคำตอบ ชวนลูกมาค้นหาคำตอบไปด้วยกัน เป็นการสร้างประสบการณ์ที่สนุกและน่าจดจำได้อีกทางหนึ่ง พูดคุยด้วยการถามคำถามปลายเปิด เช่น "ทำไม" "อย่างไร" หรือ "จะเกิดอะไรขึ้นถ้า….?" คำถามเหล่านี้สามารถนำเด็กไปสู่ระดับการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหาในระดับที่สูงขึ้นอีกด้วย 7. สนับสนุนและให้กำลังใจ เหตุผลหนึ่งที่เด็กมักจะสูญเสียความรักในการเรียนรู้ เมื่อเขาเริ่มเชื่อมโยงการเรียนรู้กับความวิตกกังวลและความกดดัน ทำให้เขากังวลว่าจะได้เกรดไม่ดี ตอบคำถามผิด หรือสอบตก เมื่อการเรียนรู้เป็นเรื่องของผลลัพธ์เท่านั้น การเรียนรู้ก็จะไม่สนุกอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือต้องสอนเด็กๆ ว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดจากความสามารถที่มีมาแต่กำเนิด เช่น "ความฉลาด" ความสำเร็จมาจากความพากเพียร การฝึกฝน การทำงานหนัก และความล้มเหลว