ทำอย่างไร ถ้าลูกห่วงเล่น ไม่ห่วงกิน

เอาแต่เล่น ไม่ยอมกิน

ลูกไม่ยอมกินข้าว เพราะห่วงเล่น แก้ด้วยการฝึกวินัยการกินที่ดีให้ลูก
เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรอกว่า เรากินอาหารไปเพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง และยิ่งไม่รู้หรอกว่า การมีวินัยในการกินสำคัญอย่างไร เขารู้เพียงแค่ว่า หิวก็กิน อยากกินก็กิน อาหารอร่อยก็กินเพียงเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องฝึกลูกให้มีวินัยในการกินตั้งแต่ยังเล็ก เพราะจะทำให้ลูกมีความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำของตัวเอง ที่เรียกว่าทักษะ EF อันเป็นพื้นฐานไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตต่อไป ด้วยวิธีต่อไปนี้

กินอาหารให้เป็นมื้อ กินให้เป็นเวลา
ลูกไม่ยอมกินข้าว หากปล่อยให้ลูกกินทั้งวัน หิวเมื่อไหร่ก็มีของกินพร้อมเสิร์ฟ ลูกก็จะไม่หิวเมื่อถึงเวลาอาหาร และไม่เห็นความสำคัญของการกินให้เป็นเวลา สำหรับลูกเล็กในวัยอนุบาล อาจมีอาหารว่างมื้อเล็กตอน 10 โมงเช้า กับ บ่าย 2 โมง แต่ต้องเป็นมื้อเล็กที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบ อาหารหวาน น้ำหวาน ขนมหวาน และไม่ควรให้กินขนมใกล้เวลาก่อนมื้ออาหาร สัก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกได้รู้จักความหิว

กำหนดเวลากินในแต่ละมื้อไม่เกินครึ่งชั่วโมง
บอกลูกว่า ทุกคนจะนั่งที่โต๊ะกินข้าวด้วยกันตามเวลาจนเสร็จ เมื่อหมดเวลาต้องเก็บอาหาร และไม่มีการกินเวลาอื่น ไม่มีของว่างหรือขนม จนกว่าจะถึงมื้อต่อไป เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้กฎว่า ถึงเวลากินข้าวต้องหยุดเล่น และมากินอาหารให้ตรงเวลา ถ้าไม่กินตามเวลาต้องทนหิว เพื่อรอเวลาอาหารมื้อถัดไป

ในข้อนี้ สำคัญมากในการฝึกลูกให้เรียนรู้วินัยการกินที่ดี คุณแม่ต้องไม่ใจอ่อน อย่ากลัวว่าลูกจะขาดสารอาหาร หากปล่อยให้ลูกอด เพราะการที่เด็กอดไปไม่กี่มื้อ ไม่ได้ทำให้เด็กขาดสารอาหารและไม่โต แต่จะทำให้เด็กเรียนรู้วินัยการกินที่ดีในระยะยาว ซึ่งการฝึกตั้งแต่ลูกยังเล็กแบบนี้ จะทำให้คุณแม่สบายในระยะยาว ไม่ต้องเหนื่อยเคี่ยวเข็ญให้ลูกกินข้าวไปจนโตด้วยเช่นกัน

สร้างบรรยากาศที่ดีในการกิน
ฝึกให้ลูกนั่งกับโต๊ะ กินอาหารพร้อมกันร่วมกับพ่อแม่ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในการกินให้ลูกได้เรียนรู้ว่า การกินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเหมือนกิจวัตรอื่นๆ และทุกคนต้องทำเหมือนกัน โดยมีพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการกิน ซึ่งหากบ้านไหนที่พ่อแม่กินข้าวไม่เป็นเวลา กินข้าวหน้าทีวี หรือเลือกกิน ก็ควรปรับที่พฤติกรรมของตัวเองก่อน

สอนไปในทิศทางเดียวกัน
ปัญหาหนึ่งในการที่ฝึกวินัยลูกไม่สำเร็จ เพราะผู้ใหญ่ในบ้านไม่สอนลูกหลานไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนอื่นเลย ผู้ใหญ่ในบ้านควรคุยข้อตกลงในการปรับพฤติกรรมการกินของเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่า แม่เก็บอาหารเมื่อลูกไม่ยอมกินตามเวลา แต่คุณยาย เอาขนมของว่างมาให้หลานเพราะกลัวจะหิว เช่นนี้แล้ว เด็กจะไม่เห็นความสำคัญของการกินเป็นเวลา ซึ่งจะทำให้การปรับพฤติกรรมไม่ประสบความสำเร็จ

ไม่บังคับให้ลูกกินข้าว
คุณแม่คุณแม่ไม่ควรกังวลกับการกินของลูกมากเกินไป โดยธรรมชาติของเด็กเล็กจะกินอาหารตามปริมาณที่ร่างกายต้องการอยู่แล้ว เมื่อลูกอิ่ม ไม่อยากกิน ไม่ต้องคะยั้นคะยอหรือบังคับให้ลูกกินต่อให้หมด เพราะการกินมากกินน้อย ลูกอ้วนหรือยอมไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ดีหรือไม่ดี แต่การบังคับให้ลูกกินจะทำให้ลูกเกิดทัศนคติที่ไม่ได้ต่อการกิน และยิ่งไม่ยอมกินข้าวยิ่งกว่าเดิม

ชวนลูกมีส่วนร่วมในการทำอาหาร
คุณแม่อาจชวนให้ลูกมีส่วนร่วมในการทำอาหาร ในส่วนที่ลูกสามารถทำได้และไม่เป็นอันตราย ลูกจะตื่นเต้นและภูมิใจที่ได้กินอาหารฝีมือตัวเอง นอกจากนี้คุณแม่อาจมีการดัดแปลงอาหารบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อสร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหารให้มีความแปลกใหม่ น่ากินกว่าเดิม เช่น มีสีสันหรือทำเป็นรูปตัวการ์ตูน

ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเมนู
คุณแม่ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเมนูให้เป็น เพราะการที่ลูกกินแต่อาหารเดิมๆ จนเบื่อก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่สนใจการกิน โดยคุณแม่อาจสลับจากเมนูข้าว เป็นเมนูเส้นที่ให้คาร์โบไฮเดรตเหมือนกัน เช่น ก๋วยเตี๋ยว สปาเก็ตตี้ มักกะโรนี ขนมจีน เป็นต้น

ซึ่งหากคุณแม่จะฝึกให้ลูกลองอาหารใหม่ๆ ที่ไม่เคยกิน ควรนำเข้ามาทีละนิดร่วมกับอาหารที่ลูกชอบ หากลูกปฏิเสธอาหารชนิดนั้นๆ ในครั้งแรก ไม่ได้หมายความว่า ลูกจะไม่กินอาหารชนิดนั้นอีก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสามารถให้เด็กได้ลองเป็นระยะ ได้ถึง 10 ครั้ง

ฝึกลูกตักอาหารกินเอง
เริ่มจากพ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จากนั้นจับมือลูกทำตาม แล้วลองให้ลูกทำเอง ฝึกบ่อยๆ ให้ลูกทำได้ให้มากที่สุด ไม่ต้องกลัวเลอะเทอะ ไม่ต้องวุ่นวายกับการทำความสะอาดตลอดเวลาระหว่างกิน ให้คิดเสมอว่าความเลอะเทอะ คือการเรียนรู้ เมื่อลูกทำได้พ่อแม่ควรชื่นชมให้กำลังใจ ตบมือ ยิ้มให้ แล้วบอกว่า ที่คุณพ่อคุณแม่พอใจ คือ พฤติกรรมอะไร ยิ่งชมลูกยิ่งภูมิใจ และอยากทำอีก เมื่อลูกกินข้าวจนหมด พ่อแม่ก็ชมอีก วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ลูกอยากกินอาหารตรงเวลามากขึ้น

ปัญหาลูกกินยาก ห่วงเล่น ไม่ยอมกินข้าว แก้ได้ไม่ยาก เพียงคุณพ่อคุณแม่ปรับทัศนคติของตัวเอง และปรับการตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสม การฝึกวินัยการกิน ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหา ลูกไม่กินข้าว แต่การตั้งกติกา ช่วยฝึกให้ลูกมีความอดทน รู้จักควบคุมตนเอง เรียนรู้กฎในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นพื้นฐานในการมีวินัยเรื่องอื่นๆ ต่อไป

หนังสือนิทานต่อไปนี้แก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว
การใช้หนังสือนิทาน เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสอนลูกกินข้าวให้ตรงเวลา ฝึกวินัยการกินให้ลูก ไม่กินปิงปิงเล่นก่อน” เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อชี้ให้ลูกเห็นว่า บ้านของเรามีกติกาที่ทุกคนในบ้านต้องทำเหมือนกัน ถ้าถึงเวลากินแล้วไม่กิน ลูกจะหิวแบบ “ปิงปิง”

นิทานปิงปิง “ไม่กินปิงปิงเล่นก่อน” ยังช่วยเสริมสร้างทักษะทางสมองที่สำคัญอย่าง EF ได้ด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถชักชวนลูกพูดคุยถึงเหตุการณ์ในเรื่องนี้เชื่อมโยงกลับมาที่ตัวเอง หนูจะทำอย่างไรไม่ให้ต้องทนหิวอย่างปิงปิง ช่วยฝึกการยั้งคิดไตร่ตรอง และรู้จักประเมินตนเอง รวมไปถึงชวนลูกคิดต่อว่า แล้วเย็นนี้หนูอยากกินอะไร เราลองมาช่วยกันทำดีไหม เป็นการฝึกความจำเพื่อใช้งาน และวางแผน จัดระบบ ดำเนินการ เป็นพื้นฐานกระบวนการคิดที่สำคัญต่อไปในอนาคต

ป๋องแป๋งไม่อยากกิน
ฝึกลูกให้รู้จักรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ผ่านเรื่องราวน่ารักของ “ป๋องแป๋ง” ตัวละครสุดฮิตที่เด็กๆ ชื่นชอบ พร้อมเทคนิคทำให้ลูกชอบกินผักท้ายเล่ม เหมาะสำหรับการเริ่มต้นเรียนรู้ของเด็กเล็ก

อ้ำ อ้ำ…หม่ำ หม่ำ
หนังสือภาพพร้อมเพลง ปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีในการกินอาหารและเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับยานพาหนะที่เด็กชื่นชอบ เช่น รถไฟ ตุ๊กตุ๊ก เครื่องบินผ่านคำคล้องจองที่สามารถร้องเป็นเพลงแสนสนุก ส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางภาษาอย่างสมบูรณ์ หนังสือเด็ก 0-6 ปี

ขอบคุณข้อมูลจาก ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย, Amarin Baby & Kids, kapook.com