Author Archives: thanapat.passed

กิจกรรมวันเด็ก เด็ดไม่ควรพลาด

8 กิจกรรมวันเด็ก เด็ดสะระตี่ที่ไม่ควรพลาด!

ชื่นมื่นกับเทศกาลปีใหม่ ที่มีกิจกรรมดีๆ สำหรับเด็กเพียบ เป็นอีกวันแสนอบอุ่นสนุกสนานของครอบครัวเลยค่ะ ไปดูซิว่าคุณพ่อคุณแม่จะพาลูกๆ ไปไหนกันดี

.

1. มิวเซียมสยาม ชวนเด็กๆ มาสนุกสนานกับโลกยุคหินในกิจกรรม “เจาะยุคหินมหัศจรรย์” เป็นการย้อนอดีตผจญภัย ตื่นเต้น ท้าทาย เป็นการเล่นเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ แถมมีของรางวัลติดมือกลับบ้านแน่นอน ฟรีตลอดทั้งงาน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น.

2. พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร จตุจักร เปิดให้เด็กๆ เข้าชมฟรี เป็นแหล่งรวมกิจกรรมขนาดใหญ่มาก มีหลายโซน เช่น โซนวิทยาศาสตร์ ได้ทำการทดลองสนุกๆ โซนครัวไทยวัยจิ๋ว เข้าครัวทำอาหารจริงๆ กันเลย โซนสวนน้ำ โซนสโมสรนักประดิษฐ์  โซนไดโนเสาร์ ฯลฯ วันที่ 9 – 10 ม.ค. ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น.

3. อาคารรัฐสภา ปกติเป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี ทุกๆ ปีจะเปิดให้เด็กๆ ได้ลองเข้าไปนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ มีการจัดซุ้มกิจกรรมต่าง ๆ เกมสันทนาการ พร้อมแจกของรางวัลมากมายแก่เด็กๆ ที่มาร่วมงาน เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ผู้ปกครองนิยมพาลูกหลานมาเที่ยวกันอย่างคับคั่งทุกปี

4. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ วันเด็กปีนี้เด็กๆ จะตื่นตาตื่นใจไปกับการดูดาว ท่องอวกาศ พร้อมทั้งเป็นการเปิดตัวห้องฉายดาวใหม่ ใช้งบประมาณถึง 95 ล้านบาท กว้างขวางจุผู้ชมได้ถึง 280 ที่นั่ง มีระบบเสียงรอบทิศทางเทียบเท่าโรงภาพยนตร์เกรดเอ และกิจกรรมสนุกมากมาย

5. พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มีงาน “ถนนสายวิทยาศาสตร์” ต้อนรับวันเด็ก โดยจะจัดสถานีกิจกรรมและการทดลองวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด เรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวม 34 สถานี มากกว่า 100 กิจกรรม พร้อมรับของแจกและรางวัลเพียบ ตั้งแต่วันที่ 7- 9 ม.ค. เวลา 09.00 – 17.00 น. ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่ควรพลาดเลยค่ะ

6. กรมพลศึกษา ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาเเห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวเเละกีฬา ภายในงานมีกิจกรรมสนุกสนาน เล่นเกม การแสดงร้องเล่น เต้นรำ มายากล ดนตรี ฯลฯ งานนี้ก็มีของรางวัลแจกมากมายเช่นกัน  

7. สภากาชาดไทย ภายในงานมีกิจกรรมสนุกสนานมากมาย และพลาดไม่ได้กับกิจกรรม SHOT & SHARE

ลุ้นรับของรางวัลสุดพิเศษ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.30 น. ณ บริเวณพิพิธภัณฑ์และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย 

8. ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ชั้น 3 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน จัดกิจกรรม “ต่าง คล้าย ใช่เลย การเล่น ของเล่น หรรษา อาเซียน” เด็กๆ จะได้เรียนรู้การละเล่นและของเล่นของเพื่อนบ้านอาเซียน ลองประดิษฐ์ของเล่น พร้อมกิจกรรมแจกรางวัล ตั้งแต่เวลา 10.00 – 17.00 น.

.

เที่ยวสนุกกันแล้ว อย่าลืมตั้งใจเรียนและเป็นเด็กดีของคุณพ่อคุณแม่ด้วยนะคะ

เปิดเทอมใหม่เตรียมพร้อมลูกอย่างไรดี

เปิดเทอมใหม่เตรียมพร้อมลูกอย่างไรดี

1. ฝึกให้ลูกทำทุกอย่างด้วยตัวเอง

ตั้งแต่เข้าห้องน้ำ ขับถ่าย รู้จักแปรงฟัน อาบน้ำ

แต่งตัว และตักอาหารกินเอง ไม่ถึงกับต้องทำได้ดีทั้งหมด

เลอะบ้าง ไม่เรียบร้อยบ้างก็ไม่เป็นไร ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้

และทำได้ดีขึ้นเอง

 

2. พาลูกออกไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน

เพราะเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนลูกจะต้องพบเจอเพื่อนใหม่ๆ

คุณครูและคนอื่นๆ การพาเด็กลูกออกไปเล่นนอกบ้านเป็นประจำ

จะช่วยให้ลูกปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น

ไม่ขี้กลัวหรือขี้อายมากเกินไป

 

3. พาลูกไปทำความคุ้นเคยกับโรงเรียนก่อนวันจริง

อาจพาไปเล่นในสนามเด็กเล่นของโรงเรียน ลองเข้าห้องน้ำ เดินดูสถานที่ต่างๆ

ถ้าเป็นไปได้ให้พาไปแนะนำกับคุณครูก่อน

ระหว่างนั้นพ่อแม่ก็พยายามเล่าถึงความสนุกของไปโรงเรียน

เพื่อให้ลูกคลายความกังวล

 

3 วิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้นักเรียนใหม่ของเราพร้อมจะไปโรงเรียนเหมือนไปเที่ยวสวนสนุก

ป๋องแป๋งบ๊ายบายขวดนม

นิทานภาพคำกลอน แก้ปัญหาลูกติดขวดนม ซึ่งส่งผลเสียต่อฟันผุ พันเหยิน มีปัญหาพูดไม่ชัด และเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน

ป๋องแป๋งไปโรงเรียน

นิทานภาพคำกลอน ฝึกลูกให้รู้จักดูแลตัวเองง่าย ๆ ตั้งแต่ที่บ้านก่อนไปโรงเรียน เมื่อถึงวันจริงควรเผื่อเวลาให้ลูกได้เตรียมตัว ไม่เร่งรีบ หงุดหงิด ดุว่า มารับลูกตรงเวลาที่บอกไว้ รวมถึงคอยเป็นกำลังใจและสร้างความมั่นใจให้ลูกในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่และเพื่อนใหม่ที่โรงเรียน

ทำอย่างไรฝึกลูกให้มีความรับผิดชอบ

ทำอย่างไรฝึกลูกให้มีความรับผิดชอบ

 “ความรับผิดชอบ” เป็นกุญแจหนึ่งที่นำไปสู่การประสบความสำเร็จ จึงเป็นอีกเรื่องที่พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกมี

 ดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่ความจริงสอนลูกได้ไม่ยาก ผ่านกิจวัตรประจำวันที่ลูกทำได้ง่ายๆ อย่างการชวนทำงานบ้าน

หลักคือ เลือกงานที่เหมาะกับวัยของเขา ไม่ยากซับซ้อน เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก่อน เช่น แปรงฟัน แต่งตัว กินข้าวเอง จากนั้นค่อยมอบหมายงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น พับผ้า รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน กวาดบ้าน

 โดยพ่อแม่ทำให้ดูก่อน แล้วให้เขาทำตาม จากนั้นลองให้ลูกทำเอง ทำให้เป็นเรื่องสนุกอย่าเคร่งเครียด ไม่บังคับ ทำเหมือนเรากำลังเล่นสนุกกันอยู่


ป๋องแป๋งทำงานบ้าน

นิทานภาพคำกลอน สอนให้รู้จักช่วยทำงานบ้านง่าย ๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน จับคู่ถุงเท้า งานบ้านจะช่วยฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ทั้งการรู้จักรับผิดชอบตัวเอง ฝึกทำงานอย่างเป็นขั้นตอน พร้อมเกร็ดความรู้ท้ายเล่มสำหรับพ่อแม่ในการเลือกงานบ้านที่เหมาะกับเด็ก

ป๋องแป๋ง ชุดวัยเยาว์

นิทานภาพคำกลอนชุดนี้ ส่งเสริมสุขนิสัยและพัฒนาทักษะในการช่วยเหลือตนเอง มีวินัย รู้จักรับผิดชอบตนเอง แก้ปัญหาลูกไม่ยอมกิน เข้านอนยาก ไม่ชอบแปรงฟัน 

เด็กเล็กไม่ควรเล่นโซเชียลจริงไหม

เด็กเล็กไม่ควรเล่นโซเชียลจริงไหม

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคสื่อโซเชียล ที่ไม่ว่าใครก็ต้องใช้สื่อด้านนี้ให้เป็น ไม่ว่าวัยไหน ทั้งวัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย หรือแม้กระทั่งเด็กก็ตาม

หลายครอบครัวที่พ่อแม่หยิบยื่นสมารท์โฟนหรือแท็บเล็ตให้ลูกน้อย เพียงเพราะต้องการมีเวลาไปทำอย่างอื่น โดยอาจรู้หรือไม่รู้ว่าสื่อเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์กับเด็กเลย เพราะเด็กเล็กยังแยกแยะอะไรไม่ได้มาก และเด็กเองควรจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาการให้เหมาะสมกับวัยผ่านกิจกรรมอื่นมากกว่า

การเสพสื่อโซเชียลในเด็กเล็กเป็นการเสพสื่อเพียงด้านเดียวคล้ายกับการปล่อยให้เด็กนั่งดูโทรทัศน์ เด็กจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับใคร พัฒนาการด้านภาษา (สื่อสาร) และสังคมไม่ได้ถูกกระตุ้นเรียนรู้ รวมถึงร่างกายก็ไม่ถูกใช้ เพราะเด็กจะแค่นั่งดูหน้าจอนิ่ง ๆ หรือใช้แค่นิ้วกดไปมาบนหน้าจอ

ที่สำคัญยังส่งผลเสียกับดวงตา เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งตาแห้ง แสบตา ปวดตา ไปจนถึงประสาทตาเสื่อม

นอกจากนี้เด็กที่เล่นโซเชียลจะมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตามมา ภาพในจอจะเปลี่ยนไปไวมาก เด็กจึงไม่คุ้นเมื่อพบว่าชีวิตจริงต้องรอคอยสิ่งต่างๆ นานกว่า ทำให้กลายเป็นคนหงุดหงิด ขี้โมโห รอไม่เป็น

หรือแม้แต่พัฒนาการด้าน IQ พ่อแม่หลายคนอาจหลงดีใจที่ลูกดูสื่อเหล่านี้แล้วพูดตามได้เป็นคำ ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การท่องจำเพราะดูซ้ำ ไม่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ สัมผัส โต้ตอบของจริง จึงไม่ได้ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ

พ่อแม่จึงไม่ควรนำสื่อเหล่านี้ไปสู่ลูกน้อย ควรรอเวลาให้ลูกเติบโตเต็มที่ มีพัฒนาการสมวัยทุกด้านก่อน ค่อยให้เด็กเริ่มหัดใช้ โดยมีพ่อแม่ให้คำแนะนำดูแลอยู่ใกล้ ๆ เพื่อให้ลูกได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและสื่อเหล่านี้เต็มที่

ป๋องแป๋งติดจอ

นิทานภาพคำกลอน สอนลูกให้ใช้เวลาอยู่หน้าจออย่างเหมาะสมเปลี่ยนลูกติดหน้าจอให้เป็นเด็กติดกิจกรรมแทน

อย่าติดจอนะป๋องแป๋ง

 Activity Book ประกอบนิทานแสนสนุก เรียนรู้การใช้เวลาอยู่หน้าจออย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้เล่น หรือทำกิจกรรมสนุกอย่างอื่นแทน สำหรับเด็กปฐมวัย สนุกกับกิจกรรมภายในเล่ม พร้อมสติ๊กเกอร์แสนน่ารัก เสริมทักษะ EF

เด็กเล็กใช้แทบเล็ตอย่างไรให้ปลอดภัย

เด็กเล็กใช้แทบเล็ตอย่างไรให้ปลอดภัย

ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มือถือหรือแทบเล็ตกลายเป็นอีกอวัยวะที่หลายคนขาดไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ และการจ้องหน้าจอเหล่านั้นนานๆ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาด้วย เรียกว่า Computer Vision Syndrome หรือ CVS คือ กลุ่มอาการทางสายตา เช่น ปวดตา แสบตา ระคายเคืองตา ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป ที่น่าตกใจก็คือ ปัจจุบันมีแนวโน้มพบอาการนี้ในเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การที่เด็กๆ อ่านหรือเล่นแทบเล็ตบ่อยๆ มีผลวิจัยระดับนานชาติหลายชิ้นรายงานตรงกันว่า ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสายตาสั้นได้มาก เพราะต้องเพ่งมองหน้าจอสว่างระยะใกล้ เป็นเวลานานๆ ซึ่งหน้าจอแทบเล็ต รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ มือถือ ไฟหน้ารถยนต์ จะมีแสงสีฟ้า (blue light) เป็นแสงช่วงความยาวคลื่นต่ำ แต่มีพลังงานสูง สามารถทำลายจอประสาทตาได้ทำให้เกิดผลเสียต่อดวงตาในระยะยาว

ในทางการแพทย์โดยสมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เล่นคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแทบเล็ต เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กวัยนี้แล้ว ยังก่อให้เกิดโทษด้วยทั้งปัญหาสายตา สมาธิสั้น และทักษะทางสังคม

สำหรับเด็กวัย 2 ปีขึ้นไป หากจำเป็นต้องใช้แทบเล็ตจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปฏิบัติดังนี้

1. จำกัดการเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรเล่นติดต่อกันนานเกิน 30 นาทีต่อครั้ง สลับกับการพักสายตาไม่น้อยกว่า 30 วินาที

2.  นอกจากนั้นควรปรับความสว่างหน้าจอให้สบายตาที่สุด ไม่สว่างมากหรือน้อยเกินไป อาจติดฟิลม์หรือใช้แอพพลิเคชันกรองกรองแสง เพื่อไม่ให้แสงแยงตามากเกินไป ปรับขนาดอักษรใหญ่เห็นชัดเจน  ไม่ให้เด็กจ้องมองจอระยะใกล้เกินไป ควรห่างประมาณ 1 ฟุต (1 ไม้บรรทัด)

แม้ว่าเราจะปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์โซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ได้ แต่จำเป็นที่เราต้องฉลาดใช้และเท่าทันอันตรายที่อาจแฝงมากับความทันสมัยโดยไม่รู้ตัวค่ะ

 

ป๋องแป๋งติดจอ

นิทานภาพคำกลอน สอนลูกให้ใช้เวลาอยู่หน้าจออย่างเหมาะสมเปลี่ยนลูกติดหน้าจอให้เป็นเด็กติดกิจกรรมแทน

อย่าติดจอนะป๋องแป๋ง

 Activity Book ประกอบนิทานแสนสนุก เรียนรู้การใช้เวลาอยู่หน้าจออย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้เล่น หรือทำกิจกรรมสนุกอย่างอื่นแทน สำหรับเด็กปฐมวัย สนุกกับกิจกรรมภายในเล่ม พร้อมสติ๊กเกอร์แสนน่ารัก เสริมทักษะ EF

เคล็ดลับรับมือลูกชอบเถียง

เคล็ดลับรับมือลูกชอบเถียง

เด็ก 2-3 ปี เป็นวัยที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง  ยึดตัวเองเป็นหลัก จึงมักชอบทำในสิ่งตรงข้ามที่ผู้ใหญ่บอก ทำให้พ่อแม่ปวดหัวบ่อยๆ  ซึ่งถือเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของเด็กวัยนี้  ไม่ได้ถือเป็นนิสัยเสียร้ายแรงที่แก้ไขไม่ได้  วิธีรับมือกับลูกชอบเถียงจึงไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลยค่ะ เราสามารถทำได้ดังนี้   

   
1. รับฟังลูกอย่างใจเย็น  เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอันดับแรก  ใช้เหตุผลอธิบายง่ายๆ กับลูกอย่างอดทน  เพราะเจ้าตัวเล็กอาจเถียงข้างๆ คูๆ ไม่ฟังเหตุผลด้วยเขายังเล็กเกินไป เช่น “หนูจะเล่นต่อ!  ยังไม่อยากอาบน้ำนะ” ลูกอาจกำลังลองใจว่าพ่อแม่จะจริงจังกับเขาแค่ไหน พ่อแม่ต้องไม่ใช้อารมณ์หรือบังคับ หรือยอมปล่อยผ่าน แต่ให้บอกลูกว่า “การพูดแบบนั้นไม่น่ารัก และแม่จะไม่ยอมทำตาม”

2. เมื่อลูกสงบจึงอธิบาย เด็กส่วนใหญ่มักแสดงอาการต่อต้าน ร้องไห้ อาละวาด พ่อแม่ควรรอจนลูกสงบก่อนจึงเข้าไปกอด ทำให้ลูกอารมณ์ดีขึ้น แล้วค่อยๆ สอนลูกว่า การเถียงหรือพูดแบบนั้นลูกจะไม่ได้รับการตอบสนองเลย แนะนำให้ลูกพูดจาด้วยน้ำเสียงสุภาพ  โดยพ่อแม่ควรพูดเป็นตัวอย่างให้ฟังก่อนแล้วให้ลูกพูดตาม และอย่าลืมชมเชยให้กำลังใจลูกด้วยเมื่อลูกพูดได้      

3. ให้คำแนะนำและสร้างความมั่นใจ  แนะนำลูกให้รู้จักบอกเหตุผลหรือสิ่งที่ตัวเองคิด เพื่อแม่จะได้เข้าใจ ขณะเดียวกันก็อธิบายให้ลูกรู้ว่า ทำไมแม่จึงไม่ทำตามสิ่งที่เขาต้องการและต้องให้ลูกทำอย่างนั้น  อาจใช้โอกาสนี้ในการสอนให้ลูกรู้จัก “การขอโทษ” และแก้ตัวใหม่ ลองสมมุติว่าเกิดเหตุการณ์นี้อีก ถามลูกว่าควรจะพูดจาอย่างไรให้น่าฟัง   

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรหมั่นพูดคุยถึงความคิด ความรู้สึกให้ลูกฟังในบรรยากาศสบายๆ  เพื่อให้ลูกรู้จักการแสดงความรู้สึก ความคิดเห็นที่เหมาะสม  ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติผ่านกิจวัตรประจำวันที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาลูกชอบเถียงที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่งค่ะ

 

ไม่นะ ปิงปิงไม่ได้ฉี่

การฉี่รดที่นอนของเด็กเล็ก ๆ วัย 1-5 ปี เป็นเรื่องปกติ เพราะพัฒนาการทางร่างกายยังไม่สมบูรณ์ นิทานภาพคำกลอนเล่มนี้มีวิธีแก้ปัญหาลูกฉี่รดที่นอน ด้วยการฝึกให้ลูกปัสสาวะก่อนเข้านอน และไม่ควรอารมณ์เสีย ดุว่า หากลูกยังปรับตัวไม่ได้

เคล็ดลับเลี้ยงลูกให้คิดเป็น

เคล็ดลับเลี้ยงลูกให้คิดเป็น

หลายครั้งพ่อแม่ตกหลุมพรางคำว่า
‘ลูกเก่ง’ เท่ากับ ‘ลูกคิดเป็น’ ซึ่งไม่ใช่!
 
เราจึงมักเห็นเด็ก 5 ขวบ เก่งเขียน ก-ฮ คล่อง แต่พอทำน้ำหกกลับร้องไห้ไม่รู้จะทำอย่างไร
หรือสอบได้ที่ 1 แต่ยังดิ้นพราดจะเป็นจะตายถ้าไม่ได้คะแนนเต็ม
กลายเป็นว่าลูกเรียนเก่ง แต่ชีวิตจริงเมื่อเผชิญปัญหากลับรับมือไม่ได้
การเรียนอย่างเดียวให้ลูกได้แค่ “ความรู้”
แต่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ “ฝึกวิธีคิด” ให้ลูก

การฝึกวิธีคิดของลูกเกิน 90% ได้จากการเล่น การตั้งคำถาม การใช้เวลากับพ่อแม่
ทำงานด้วยกัน คุย สบตา สัมผัส กอด ได้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะการฝึกตั้งคำถาม จะช่วยให้ลูกพัฒนาสมองส่วนคิดได้มาก
เรียนรู้การใช้เหตุผล บางสถานการณ์ยังช่วยฝึกควบคุมอารมณ์ 
เช่น ลูกทำน้ำหก แทนที่จะดุก็เปลี่ยนมาถามลูกว่า “น้ำหกจะทำยังไงดีนะ”
หรืออ่านนิทานจบก็ลองชวนลูกคุยต่อ “ถ้าหนูเป็นเหมือนหมีน้อยในเรื่องจะทำแบบนั้นมั้ยจ้ะ”
 
พ่อแม่ควรหมั่นตั้งคำถามให้ลูกฝึกคิดเนียนไปกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน
ตั้งคำถามจากเรื่องที่ลูกชอบหรือสนใจก่อนเป็นหลัก
เปิดโอกาสให้ลูกได้ถามบ่อยๆ ไม่รำคาญความช่างซักช่างถามซ้ำๆ
บ่อยครั้งเรายังต่อยอดช่วยลูกหาคำตอบจากการ “ลองทำดู”
ลองผิดลองถูกได้ไม่เป็นไร จะช่วยฝึกให้ลูกกล้าตัดสินใจและเรียนรู้ผลที่ตามมาได้อีก
  
การอ่านนิทานและตั้งคำถามจากเรื่องก็เป็นวิธีพัฒนาสมองส่วนเหตุผลให้ลูกได้ดี
เพราะเด็กสนุกและจดจ่อกับนิทานอยู่แล้ว พร้อมซึมซัมพฤติกรรมจากตัวละครที่เขาชอบ

นิทาน ชุดฉันชื่ออองตอง ปลูกฝังให้เด็กช่างสงสัยใคร่รู้ผ่านเหตุการณ์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน แถมหุ่นนิ้วและตุ๊กตากระดาษภายในเล่มใช้ต่อยอดความคิดและจินตนาการสนุกและ ชุดนิทานต่างมุม เป็นนิทานปลายเปิดฝึกลูกใช้สมองส่วนเหตุผล บอกเล่าตอนจบได้เองตามจินตนาการ ไม่มีถูกผิด ฝึกคิดและเรียนรู้ทักษะชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่าง เป็นนิทานได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น สพฐ. ปี 61

เขียนบันทึกฝึกพัฒนาการลูก

เขียนบันทึกฝึกพัฒนาการลูก

“เขียนบันทึกฝึกพัฒนาการลูก”

—————-

เข้าหน้าหนาวอย่างไม่เป็นทางการกันแล้วนะคะ วันนี้พี่คิดส์ซี่มีเรื่องราวดีๆ มาเล่าสู่กันฟังเช่นเคย ในด็กวัยที่เริ่มหัดเขียนหนังสือ ทักษะการเขียนของเขาจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปตามวัย ยิ่งหากได้ฝึกเขียนโน่นเขียนนี้ทุกวันจนคล่อง จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กก็ยิ่งกว้างไกล เพราะการเขียนบ่อยๆ ทำให้ได้ฝึกคิดเชื่อมโยง ช่วยพัฒนาสมองและสติปัญญาได้อย่างดี

.

เราลองชวนลูกมาเล่นสนุกเขียนบันทึกประจำวันกันดีกว่า ในตอนแรกเด็กๆ อาจเริ่มต้นง่ายๆ แค่เขียนกิจวัตรประจำวัน เช่น หนูไปโรงเรียน แปรงฟัน กวาดบ้าน เล่นตุ๊กตากับน้อง ฯลฯ พร้อมกับวาดภาพระบายสีประกอบเรื่องราว

.

ต่อมาคุณพ่อคุณแม่อาจกระตุ้นความอยากเขียนของลูกด้วยการกำหนดหัวข้อลงไป เช่น “วันนี้อะไรที่หนูชอบที่สุด” “อะไรที่หนูไม่ชอบเลย” ช่วยทำให้เด็กๆ ได้ระบายความรู้สึกที่ดีและไม่ดีออกมาบนหน้ากระดาษ ฝึกให้ลูกรู้จักสื่อสารความรู้สึกให้ผู้อื่นเข้าใจได้อีกด้วย

.

ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ นอกจากนี้การฝึกเขียนบันทึกยังมีประโยชน์อีกหลายประการ ได้แก่

– ช่วยเรียบเรียงความคิดและฝึกทักษะทางภาษา (พัฒนา IQ)

– ฝึกสมาธิ เข้าใจตัวเอง ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น (พัฒนา EQ)

– ฝึกจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวาดรูปและตัวหนังสือ (พัฒนา CQ)

รู้แบบนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้า มาให้ลูกเลือกสมุดบันทึกน่ารักซักเล่ม แล้วเขียนบันทึกกันได้เลยค่ะ

เรียบเรียง : พี่คิดส์ซี่

10 สิ่งควรทำและสอนลูกบนโต๊ะอาหาร

10 สิ่งควรทำและสอนลูกบนโต้ะอาหาร

10 สิ่งควรทำและสอนลูกบนโต๊ะอาหาร

1.  ปิดจอทุกชนิด (โทรทัศน์ มือถือ) ให้ลูกมีสมาธิกับการกิน

2.  นำของเล่นออกจากโต๊ะอาหาร กินคือกิน ไม่ดึงความสนใจลูกไปทางอื่น

3.  ลูกไม่ชอบกินผักบุ้งวันนี้ ไม่ได้แปลว่าพรุ่งนี้จะไม่ชอบ ให้นำเสนอ เชิญชวนบ่อยๆ (ใช้ได้กับอาหารทุกชนิด)

4.  ให้ลูกกินเอง เลอะบ้างไม่เป็นไร แต่ลูกจะได้ฝึกรับผิดชอบตัวเอง

5.  ลูกไม่อยากกินอาหารที่เตรียมไว้ อย่าบังคับ ลูกบอกอิ่มแล้ว ก็อย่าคะยั้นคะยอกินต่อให้หมด ลูกกำลังฝึกควบคุมตัวเอง   

6.  กำหนดเวลากิน ถึงเวลาเก็บคือเก็บ ไม่มีต่อรองใดๆ บอกลูกดีๆ ไม่ดุ ไม่ขู่ แต่เอาจริง

7.  พ่อแม่กินแบบไหน ลูกควรกินแบบนั้น (แต่ปรุงรสไม่จัด) ให้ลูกคุ้นกับการกินง่าย อยู่ง่าย

8.  พ่อแม่เป็นตัวอย่างกินแต่ของมีประโยชน์ ถ้าตัวเองยังกินน้ำอัดลม ฟาสต์ฟู้ด ฯลฯ ห้ามลูกกินลูกก็คงไม่เชื่อ   

9.  พ่อแม่ทำตัวอย่างมารยาทในการกิน ไม่เคี้ยวดัง ไม่กินไปแคะฟันไป ฯลฯ ลูกจะเลียนแบบจากเรา

10.  กินพร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูก ได้ทั้งอิ่มอร่อยและความสุข

* จะเห็นว่าพ่อแม่มีความสำคัญมาก ทำแบบไหน ลูกก็จะทำแบบเดียวกัน สอนลูกแล้ว ต้องหมั่นเตือนตัวเองด้วย

 

ป๋องแป๋งไม่อยากกิน

ฝึกลูกให้รู้จักรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ผ่านเรื่องราวน่ารักของ “ป๋องแป๋ง” ตัวละครสุดฮิตที่เด็กๆ ชื่นชอบ พร้อมเทคนิคทำให้ลูกชอบกินผักท้ายเล่ม เหมาะสำหรับการเริ่มต้นเรียนรู้ของเด็กเล็ก

ไม่กิน ปิงปิงเล่นก่อน

นิทานภาพคำกลอนเล่มนี้ ฝึกลูกให้มีวินัย รู้จักเวลากิน เวลาเล่น ด้วยกติกาในบ้านที่กำหนดร่วมกัน และพ่อแม่ต้องไม่ย่อหย่อน หากลูกไม่ปฏิบัติตาม

อ้ำ อ้ำ…หม่ำ หม่ำ

หนังสือภาพพร้อมเพลง ปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีในการกินอาหารและเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับยานพาหนะที่เด็กชื่นชอบ เช่น รถไฟ ตุ๊กตุ๊ก เครื่องบินผ่านคำคล้องจองที่สามารถร้องเป็นเพลงแสนสนุก ส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางภาษาอย่างสมบูรณ์ หนังสือเด็ก 0-6 ปี

6 วิธีสร้างอารมณ์ขันเพิ่มพลังEQ

6 วิธีสร้างอารมณ์ขันเพิ่มพลังEQ

6 วิธีสร้างอารมณ์ขัน เพิ่มพลัง EQ ให้ลูก

มีผลวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์ขันในเด็กพบว่า เด็กที่ชอบหัวเราะ ยิ้มแย้ม อารมณ์ดีจะมีแนวโน้มโตขึ้นเป็นคนที่มีระดับ IQ สูง รู้จักแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม และมีความสุข เนื่องจากเซลล์ประสาทสมองของเด็กจะแตกแขนงเชื่อมโยงกัน เก็บบันทึกช่วงเวลาแห่งความสุขเหล่านั้นเป็นความทรงจำลงในจิตใต้สำนึกไว้ตลอดชีวิตนั่นเอง

สำหรับเด็กเล็ก 1-3 ปีปกติเป็นวัยที่หัวเราะง่ายอยู่แล้ว เพียงแค่พ่อแม่ให้ความเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิด กิจวัตรทั่วไปก็สามารถสร้างอารมณ์ขันให้ลูกได้ไม่ยากเลยค่ะ มีอะไรบ้างมาดูกันเลย     

1. ทำหน้าตาแปลกๆ เช่น ทำแก้มป่อง ปากจู๋ ยักคิ้ว จมูกบี้ ฯลฯ เล่นกับลูก หรือให้ลองทำตามแล้วส่องกระจกดูหน้าตัวเอง

2. แปลงเนื้อเพลงใหม่ นำเพลงที่ลูกชอบมาเปลี่ยนเนื้อเพลงให้ตลกขบขัน อาจใส่ชื่อลูกเข้าไปในเนื้อเพลงด้วย เด็กจะชอบมาก

3. ทำท่าทางเลียนแบบตัวการ์ตูนหรือตัวละครที่ลูกชอบ สามารถใช้การพูดล้อเลียนบทสนทนาที่ตัวละครเหล่านั้นชอบพูดด้วยก็ได้

4. เป่าฟองสบู่ ขณะลูกอาบน้ำ ให้ใช้หลอดเป่าน้ำสบู่หรือยาสระผมเป็นฟองลอยไปตามอากาศ เด็กจะสนุกมากที่ได้จับฟองเล่นแล้วแตกโพละ!

5. เล่นจ๊ะเอ๋ เป็นการเล่นที่เด็กวัยนี้โปรดปรานมาก แค่พ่อแม่เอามือปิดหน้าแล้วจ๊ะเอ๋ หรือโผล่หน้าจากที่กันบังมาจ๊ะเอ๋ ก็สามารถทำให้ลูกขำเอิ๊กอ๊ากไม่หยุดแล้ว

6. เล่นปูไต่ สมมุติกับลูกว่ามือพ่อแม่เป็นตัวปูหรือแมงมุมแล้วใช้นิ้วไต่ไปตามตัวลูก หยุดแวะจั๊กจี้ตามพุง ตามฝ่ามือบ้าง รับรองว่าลูกจะหัวเราะไม่หยุดทีเดียว


ความจริงยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่สร้างอารมณ์ขัน เสียงหัวเราะให้กับลูก ซึ่งล้วนแต่ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นอกจากจะสร้าง EQ ที่ดีให้ลูกแล้วยังช่วยสานรักผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกได้อย่างดีมากๆ เลยค่ะ

================================================